บทความ


สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช : เมืองจันทบุรี

THE LEADERSHIP OF KING TAKSIN THE GREAT: THE CHANTHABURI  

นายณัฏฐกฤต ชัยอริยเมธี  นางสาววิมลพรรณ  หาญชนะ

สาขาวิชาพระพุทธศาสนา

บทคัดย่อ

    บทความนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องราวการเสด็จสู่เมืองจันทบุรีของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  ผลการศึกษาพบว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชหลังจากที่ตีฝ่าวงล้อมของพม่าด้วยทหารเพียง ๑,๐๐๐ คน แบกความเจ็บช้ำ ความเจ็บปวดสุดแสนสาหัส จากการที่กรุงศรีอยุธยาโดยพม่าเข้าตี พระองค์เห็นสภาพกรุงศรีอยุธยา ที่ล่มสลาย จุดศูนย์รวมของจิตใจ ได้แก่ วัดวาอาราม ได้ถูกเผาจนสิ้นประชาชนได้ถูกต้อนเป็นเชลย บ้างก็ถูกประหารชีวิต พระองค์จึงต้องเริ่มเดินทางเพื่อแสวงหาอิสรภาพ เพื่อกอบกู้บ้านเมือง เพื่อพสกนิกรชาวไทย เป็นการเดินทางที่ยากลำบาก เริ่มต้นจากกรุงศรีอยุธยามาตามเส้นทางฝั่งตะวันออก ตามลำดับ คือ กรุงศรีอยุธยา นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด  เพื่อรวมไพร่พลไปตีกรุงศรีอยุธยา โดยการนี้ เมืองจันทบุรี เป็นเมืองสุดท้ายที่พระองค์ได้รวมไพร่พล จึงมีความสำคัญในด้านประวัติศาสตร์ของการตีกรุงศรีอยุธยา และในด้านประวัติศาสตร์ของเมืองจันทบุรี เมื่อนึกถึงการตีกรุงศรีอยุธยา ก็ต้องนึกถึงเมืองจันทบุรี ในคำที่พระองค์ตรัสว่า

“ข้าขอสั่งให้ทุกคนทำลายหม้อชามรามไหและเสบียงอาหารให้หมด อาหารมื้อนี้จะเป็นมื้อสุดท้าย หากพวกเจ้าตีเอาเมืองจันทบูรไม่ได้ในค่ำวันนี้ ข้าและพวกเจ้าจะได้ตายเสียด้วยกันทั้งหมดทีเดียว จงมุ่งเข้าไปกินอาหารมื้อเช้ากันในเมืองจันทบูรให้ได้เถิด”

ความสำคัญ : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช,  จันทบุรี

Abstract

    This article aims to study the concept of the story came to the city of King Taksin Chanthaburi. The study indicated that King Taksin, after the breakout hit of the Burmese military with only 1,000 persons  carrying the Most of the pain inflicted Of Ayutthaya by the Burmese attack. He saw the fall of Ayutthaya at the center of the heart, including the monastery was burned to the people were herded into captivity. Some were executed He must travel to seek independence. To salvage Town The population of Thailand a tough trip Starting from Ayutthaya along the East Coast respectively Ayutthaya, Nakhon Nayok , Prachin Buri , Chachoengsao , Chon Buri Rayong, Chanthaburi, Trat to combine forces to hit Ayutthaya. Chanthaburi was the last city to be included troops. It is important in the history of the city of Ayutthaya. And in the history of Chanthaburi. When you think about City of Ayutthaya It must be recalled Chanthaburi In his word.

    “I order everyone to break the pot, bowl, jar, Ram and supplies to run out. This meal would be your last meal. If you can not attack Chantaboon city in this evening. All of us shall die. So aim to have a breakfast in Chantaboon city .”

Keyword: King Taksin, Chanthaburi.

๑. บทนำ

ในวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๑๐ กำแพงเมืองกรุงศรีอยุธยาก็ถูกกองทัพพม่าเข้ายึดทำลายลง พม่ายกทัพเข้าเมือง ขุนนางผู้ใหญ่และบุคคลสำคัญต่างๆ ในราชสำนักต่างก็หนีตาย บ้างก็ถูกจับกุม พม่าได้ทำการกวาดต้อนผู้คนและเก็บรวบรวมทรัพย์สินต่างๆ  แล้วพม่าก็สั่งให้ทำการเผาพระนครและปราสาททั้งสามองค์เสีย รวมทั้งให้เผาพระอารามและวิหารต่างๆ เสียให้หมด กำแพงเมืองก็ถูกพังทลายลงเช่นเดียวกันกับป้อมปราการก็ถูกรื้อทำลายลงจนย้อยยับ บรรดาสิ่งของต่างๆ ที่มีค่าที่มีอยู่ในกรุงศรีอยุธยา เช่นพระไตรปิฎก    พระธรรมวินัย ตำรับตำราต่างๆ ก็ถูกสั่งให้ทำลายเสียทั้งหมด รวมทั้งศูนย์กลางสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทางพระพุทธศาสนา เช่น พระพุทธรูปองค์ใหญ่ เจดีย์ และวัดต่างๆ ซึ่งพม่าไม่ต้องการให้กรุงศรีอยุธยานั้นกลับมาแข็งแกร่งได้อีก

พระวันรัตน์ ได้เล่าไว้ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาภาษามคธและคำแปล (พิมพ์ พ.ศ. ๒๔๕๙) ว่า

“ในการคราวนั้น มนุษย์นิกรทั้งหลายในกรุงศรีอยุธยามีความโศกปริเทวทุกโทมนัสคับแค้นใจมาก ทั้งมีความหิวอดอยากยากจน มีกำลังทุพลภาพมากบางเหล่าก็พลัดพรากจากญาติและมิตร บุตรภรรยา มารดาบิดาต่างคนต่างวินาศจากเครื่องอุปโภคบริโภค ธนธัญหิรัญสุวรรณรัตน์ เป็นคนอนาถทุคตะกำพร้า อังคนจัณฑาล ไม่มีอาหารจักบริโภคและปราศจากเครื่องอาภรณ์ผ้านุ่งห่มและที่อยู่ มีรูปกายอันซูบผอม ผิวพรรณวิปริต อาศัยเลี้ยงชีพด้วยผลไม้และใบไม้และเครื่องลดาวัลย์ เหง้าบัว รามมันรากไม้ ใบไม้ เปลือกไม้ ดอกไม้ เป็นต้น     เป็นคนกำพร้าอนาถาเที่ยวไปในราวป่า เที่ยวไปในนานาประเทศ เลี้ยงชีวิตด้วยความลำบากยิ่งนัก”

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนำทัพตีฝ่าวงล้อมของพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยานั้น ด้วยมองเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาคงแตกแน่นอน จึงต้องจำเป็นต้องตีฝ่าออกไปเพื่อเอาตัวรอดและจะไปรวบรวมกำลังพลแล้วจะกลับมากอบกู้เอกราชในภายหลัง ดังเส้นทางการเดินทัพของพระองค์ทรงผ่านหลายจังหวัดหลายเมือง เพื่อที่จะรวบรวมกำลังพลให้มากที่สุดการเสด็จเมืองจันทบุรีของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เป็นการเสด็จมาเพื่อเตรียมการเพื่อกอบกู้เอกราชคืนจากพม่า โดยการเสด็จออกมาจากกรุงศรีอยุธยาด้วยความยากลำบาก มาตามเส้นทางฝั่งตะวันออก ตามลำดับ คือ กรุงศรีอยุธยา นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด  เป็นการรวมไพร่พลเพื่อขึ้นไปตีกรุงศรีอยุธยา กอบกู้เอกราชให้กับชาวไทย

แม้การอยู่จันทบุรีของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไม่นานนัก แต่จันทบุรีก็ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองประวัติศาสตร์ที่คนทั่วไปต้องกล่าวถึง เมื่อเอ่ยนามสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ประชาชนชาวไทยต่างก็ต้องนึกถึงเมืองจันทบุรี จากเรื่องราวความสำคัญต่างๆที่ปรากฏในพงศาวดาร

“ครั้น ณ อาทิตย์ ๗ ค่ำ ศักราช ๑๑๒๙ ปีกุนนพศกเพลาสามยามเป็นยามเสาร์ปลดห่วง ตรัสให้ยกทัพบ่ายหน้าต่อทิศอีสานเข้าตีเมืองจันทบุรี จัดทหารไทยจีนลอบเข้าไปประจำด้านทุกด้าน เพลาจะเข้าอย่าให้โห่ร้องขึ้นมา ถ้าเข้าได้แล้วให้โห่ร้องขึ้นพร้อมกันจึงทรงช้างพระที่นั่งพังคีรีบัญชรขับเข้าทลายประตูเมืองโยธาทหารรักษาประตูและป้อมเชิงเทินนั้น ยิงปืนใหญ่น้อยดุจหนึ่งห่าฝน จะได้ถูกต้องโยธาผู้ใดผู้หนึ่งนั้นหามิได้ลอดท้องช้างพระที่นั่งไป ควาญช้างจึงเกี่ยวพังคีรีบัญชรให้ถอยออกมาทรงพระโกรธเงื้อพระแสงจะลงพระราชอาญานายท้ายช้างๆ ขอพระราชทายบอภัยโทษได้ จึงทรงพระแสงกฤชแทงพังคีรีบัญชรขับเข้าทลายประตูเมืองพังลงทหารหน้าข้างลอดเข้าไปได้ให้โห่ร้องขึ้นพร้อมกันดุจพระราชทานสัญญาณไว้นั้น”

๒. ประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

    สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเกิดแต่บิดาเป็นจีนแต้จิ๋ว นาม “จีนไหยฮอง ซื่อหยง แซ่แต้”  (นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้อธิบายว่า ไทฮอง หรือ ไหยฮอง เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดแต้จิ๋ว มิใช่ชื่อของพระราชบิดาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี) 1 เป็นผู้อพยพมาจากเมืองเฉิงไห่ ซัวเถา ครั้นเมื่อถึงวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2277 ได้มีบุตรชายคนหนึ่ง เกิดแต่นางนกเอี้ยง ซึ่งเป็นชาวไทย (พระยาเพชรบุรีครั้งปลายอยุธยานั้น มีเหตุผลน่าเชื่อว่าเป็นพระญาติฝ่ายมารดาของพระเจ้าตากสิน) ต่อมาได้รับพระราชทานศักดิ์เป็น กรมสมเด็จพระเทพามาตย์ สำหรับถิ่นกำเนิดของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น น่าจะเกิดในแถบภาคกลางมากกว่าเมืองตาก ซึ่งมักว่ากันว่าอยู่ในกรุงศรีอยุธยา บ้างก็ว่าไม่ปรากฎนามมารดาในอภินิหารบรรพบุรุษ เมื่อเข้ามาตั้งตัวในกรุงศรีอยุธยาแล้ว ได้เป็นนายอากรบ่อนเบี้ย และตำแหน่ง ขุนพัฒ (บ้างก็ว่า ขุนพัฒน์) ได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ในแขวงกรุงเก่า แต่มีฐานะไม่มั่นคงมากนัก

มีหลักฐานหลายอย่างบ่งชี้ว่า พระองค์ถือกำเนิดที่ภาคกลางมากกว่าที่จะเป็นบ้านตาก (เพราะขณะนั้นยังไม่มีนิคมถาวรของชาวจีน) และเพราะคนแต้จิ๋ว ไม่ได้เป็นผู้บุกเบิกขึ้นไปทางเหนือและทางภาคอีสาน มักจะอยู่ภาคกลางมากกว่า (พระมารดาของพระองค์เคยลี้ภัยไปอยู่บ้านแหลม เพชรบุรี เมื่อคราวพม่าเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยา แสดงว่าพระมารดาของพระองค์มีถิ่นฐานในแถบภาคกลาง

จากหลักฐานที่อาลักษณ์ของจีนจดบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดารราชวงศ์เช็ง แผ่นดินจักรพรรดิเฉียนหลง กล่าวถึงพระราชประวัติของพระองค์ไว้ว่า “บิดาเจิ้งเป็นชาวมณฑลกวางตุ้ง ไปทำมาค้าขายอยู่ที่เสียมล่อก๊ก (ประเทศไทย) และเกิดเจิ้งเจา (สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี; สำเนียงปักกิ่ง) ที่นั่น เมื่อเจิ้งเจาเติบใหญ่ เป็นผู้มีความสามารถ ได้เข้ารับราชการอยู่ในเสียมล่อก๊ก เมื่อเจิ้งเจารบชนะพม่า ฯ แล้ว ราษฎรทั่วประเทศยกขึ้นเป็นเจ้าครองประเทศ…”

นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้ให้รายละเอียดว่า ครอบครัวของพระเจ้าตากสิน ประกอบอาชีพค้าขาย เป็นพ่อค้าเกวียน กับ เป็นนายอากรบ่อนเบี้ย เมื่อเติบใหญ่พระเจ้าตากและพรรคพวกเป็นกลุ่มพ่อค้าเร่ร่อนทำให้พระองค์มีชาวจีนเข้ามาสมัครเป็นพรรคพวก และมีความเชี่ยวชาญรอบรู้ในสภาพภูมิประเทศของท้องถิ่นต่างๆ อีกทั้งยังมีความสามารถด้านการรบเพราะต้องคุ้มกันกองคาราวานสินค้า

๒.๑ ขณะทรงพระเยาว์

ครั้นเมื่ออายุได้ 7 ขวบ เจ้าพระยาจักรีนำเข้าฝากให้เล่าเรียนหนังสืออยู่ในสำนักของพระอาจารย์ทองดี วัดโกษาวาส ต่อมาได้เข้าถวายตัวรับราชการเป็นมหาดเล็กอยู่ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่ออายุได้ 13 ปี เจ้าพระยาจักรีได้จัดงานมงคลตัดจุกนายสิน เป็นการเอิกเกริกและในระหว่างนั้น มีผึ้งหลวงมาจับที่เพดานเบญจารดน้ำปรากฎอยู่ถึง 7 วันจึงหนีไป และในระหว่างนี้ นายสินได้พยายามศึกษาหาความรู้ในภาษาต่างประเทศ มีภาษาจีน ภาษาญวน และภาษาแขก จนสามารถพูดคล่องได้ทั้ง 3 ภาษา และยังได้ศึกษาเล่าเรียนหนังสือไทย ขอม และคัมภีร์พระไตรปิฎก

วันหนึ่ง นายสินคิดตั้งตนเป็นเจ้ามือบ่อนถั่ว ชักชวนบรรดาศิษย์วัดเล่นการพนัน พระอาจารย์ทองดีทราบเรื่องจึงลงโทษทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายสิน โดยให้มัดมือคร่อมกับบันไดท่าน้ำประจานให้เข็ดหลาบ นายสินถูกมัดแช่น้ำตั้งแต่เวลาพลบค่ำ พอดีเป็นช่วงเวลาน้ำขึ้น พระอาจารย์ทองดีไปสวดพระพุทธมนต์ลืมนายสิน จนประมาณยามเศษ พระอาจารย์นึกขึ้นได้ จึงให้พระภิกษุสงฆ์ซึ่งเป็นอันเตวาสิก ช่วยกันจุดไต้ค้นหาก็พบนายสินอยู่ริมตลิ่ง มือยังผูกมัดติดอยู่กับบันได แต่ตัวบันไดกลับหลุดถอนขึ้นมาได้อย่างอัศจรรย์ เพื่อภิกษุสงฆ์ช่วยกันแก้มัดนายสินแล้ว พระอาจารย์ทองดีจึงพาตัวนายสินไปยังอุโบสถให้นั่งลงท่ามกลางพระภิกษุสงฆ์แล้วพระภิกษุทั้งหลายสวดพระพุทธมนต์ด้วยชัยมงคลคาถาเป็นการรับขวัญ

๒.๒ การศึกษาและผนวช   

สำหรับการศึกษาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไม่แน่ชัด แต่คาดว่าน่าจะทรงได้เคยบวชเรียนมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ทำให้ทรงสามารถแต่งกลอนบทละครและอุดหนุนการเก็บรวบรวมคัมภีร์ในพระพุทธศาสนาในภาษาไทยและภาษาบาลี ส่วนอภินิหารบรรพบุรุษ ระบุว่า เมื่อยังทรงพระเยาว์เด็กชายสินได้เล่าเรียนหนังสือในวัดโกษาวาส ปัจจุบันเข้าใจว่าเป็นวัดเชิงท่า ที่ริมแม่น้ำลพบุรี (คลองเมือง) หรือ วัดสมณโกศฐาราม ที่ริม     แม่น้ำป่าสัก ใกล้วัดเดิม (วัดอโยธยา) สำนักของพระอาจารย์ทองดี อีกทั้งยังได้อุปสมบท และยังศึกษาภาษาต่างประเทศเป็นจำนวนมากในระหว่างเป็นมหาดเล็ก เพียงแต่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือว่าพระองค์ตรัสได้ 4 ภาษา คือ ไทย จีน ญวน และลาว

๒.๓ อาชีพค้าขาย

พระราชบิดาของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี น่าจะประกอบอาชีพค้าขายเป็นหลัก มิใช่นายอากรบ่อนเบี้ย เป็นคำอธิบายที่ว่าเหตุใดพระองค์จึงไม่ทรงประมูลอากรสืบต่ออาชีพจากบิดา จึงน่าจะเป็นพ่อค้าเกวียนมากกว่า ทั้งนี้ พระองค์และพรรคพวกเป็นกลุ่มพ่อค้าเร่ร่อนในแถบหัวเมืองเหนือ การเป็นพ่อค้าดังกล่าว ทำให้พระองค์มีชาวจีนเข้ามาสมัครเป็นพรรคพวก และมีความเชี่ยวชาญในภูมิอากาศและภูมิประเทศแถบหัวเมืองเหนือ และทำให้ทรงมีความสามารถด้านการรบอีกทางหนึ่ง การค้าขายดังกล่าวจึงเป็นโอกาสให้พระองค์สามารถเป็นเจ้าเมืองตากได้ ซึ่งตรงกับตามประสงค์ที่จะเป็นเจ้าเมืองของพระองค์ด้วยเช่นกัน

๒.๔ รับราชการในสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศ

สำหรับการรับราชการเป็นเจ้าเมืองตากนั้น พระราชพงศาวดารฉบับหนึ่งได้กล่าวไว้ในทำนองว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงวิ่งเต้นให้ได้รับตำแหน่งเจ้าเมืองตาก โดยติดต่อ  ผ่านทางมหาดเล็กถึงพระยาจักรี สมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อมรินทร์ หรือ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศ ทรงทราบว่าเจ้าเมืองตากคนก่อนป่วยตาย จึงให้พระยาจักรีหาผู้มีสติปัญญาพอจะรับตำแหน่งแทน สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงได้เป็นเจ้าเมืองตาก ส่วนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงวินิจฉัยว่า พระองค์ทรงเคยเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตากก่อนที่จะทรงได้รับเลื่อนตำแหน่ง. (อ้างใน นิธิ เอียวศรีวงศ์, ๒๕๒๙, หน้า ๘๗-๘๙) ไม่ปรากฏหลักฐานอื่นมาสนับสนุนพระราชวินิจฉัยนี้แต่อย่างใดแต่ก็เข้าใจได้ในแง่ว่า ถ้าหากพระเจ้าตากสินเคยมีตำแหน่งเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองตาก มาก่อนได้เป็นเจ้าเมืองตาก ย่อมหมายถึงว่าทรงไม่ได้มีสถานภาพที่เหนือกว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ที่เคยรั้งตำแหน่งเป็นหลวงยกกระบัตร เมืองราชบุรี มาในระยะก่อนเสียกรุงฯ พ.ศ.๒๓๑๐

๓. เมืองจันทบุรี

    จันทบุรี เป็นจังหวัดทางชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของประเทศไทย มีเนื้อที่ 6,388 ตารางกิโลเมตร สภาพภูมิประเทศประกอบไปด้วยป่าไม้ ภูเขา ที่ราบสูง ที่ราบลุ่มน้ำ และที่ราบชายฝั่งทะเล ในส่วนของพื้นที่ป่าไม้มีประมาณ 3 ใน 10 ของพื้นที่ทั้งจังหวัดมีอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดฉะเชิงเทรา และสระแก้วทางทิศเหนือ ทิศตะวันออกติดกับจังหวัดตราดและประเทศกัมพูชา ทิศใต้ติดกับอ่าวไทย และทิศตะวันตกติดกับจังหวัดระยองและชลบุรี อยู่ห่างจากกรุงเทพมหานครประมาณ 238 กิโลเมตร ประชากรส่วนใหญ่ของจังหวัดจันทบุรีอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของจังหวัด โดยอาชีพที่ประชากรในจังหวัดนิยมประกอบอาชีพมากที่สุดคือเกษตรกรรมและประมงและศาสนาที่มีการนับถือมากที่สุดในจังหวัด คือศาสนาพุทธ

จันทบุรีเป็นเมืองที่มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน ก่อตั้งโดยชนชาติชอง จังหวัดจันทบุรีเป็นเมืองที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ไทยอยู่ 3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีใช้จังหวัดจันทบุรีในการรวบรวมไพร่พลและเสบียงอาหาร ครั้งที่ 2 เกิดสงครามอานัมสยามยุทธในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และครั้งที่ 3 ฝรั่งเศสยึดเมืองจันทบุรีเป็นเมืองประกันหลังจากเกิดวิกฤตการณ์ปากน้ำในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ด้วยความที่จังหวัดจันทบุรีมีความสำคัญต่อเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์หลายเหตุการณ์และมีความหลากหลายทางภูมิประเทศ ส่งผลให้จังหวัดจันทบุรีเป็นจังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรมคือ พระเจ้าพรหมทัต (พ.ศ. 1349-1399) ครั้นถึง        ปี พ.ศ. 1800 ได้มีการย้ายถิ่นฐานมาสร้างเมืองใหม่ที่บ้านหัววัง ตำบลพุงทลาย ซึ่งอยู่ใกล้กับแม่น้ำจันทบุรีในปัจจุบัน

ต่อมาปี พ.ศ. 2200 ได้ย้ายมาสร้างเมืองใหม่ที่บ้านลุ่ม อยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจันทบุรี ในปี พ.ศ. 2310 หลังจากกรุงศรีอยุธยาได้เสียให้แก่พม่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้เข้ายึดเมืองจันทบุรี   เพื่อใช้เป็นแหล่งสะสมเสบียงอาหารและรวบรวมกำลังพลในการกอบกู้กรุงศรีอยุธยาคืนจากพม่า ในคราวนั้นเจ้าเมืองจันทบุรีนามว่าเจ้าขรัวหลาน (ยศเจ้าเมืองจันทบุรีเดิม)

ต่อมาในปี พ.ศ. 2436 ฝรั่งเศสได้เข้ายึดเมืองจันทบุรีไว้นานถึง 11 ปี เนื่องจากสยามมีข้อพิพาทเรื่องดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง โดยฝรั่งเศสกล่าวหาว่าสยามล่วงล้ำดินแดนอาณานิคมของฝรั่งเศส ส่วนสยามได้อ้างว่าดินแดนดังกล่าวเป็นของสยาม ฝ่ายสยามเห็นว่าจะต่อสู้ทางทหารฝรั่งเศสไม่ได้จึงขอเปิดการเจรจา ทางฝรั่งเศสยื่นคำขาด โดยฝ่ายสยามต้องยอมยกดินแดนที่เป็นข้อพิพาทรวมทั้งเกาะทั้งหมดในลำน้ำโขง พร้อมเงินอีกหนึ่งล้านฟรังก์และสามล้านบาท โดยจนกว่าจะดำเนินการเสร็จฝรั่งเศสจะยึดเมืองจันทบุรีไว้ก่อน แต่เมื่อทางสยามดำเนินการเสร็จ ฝรั่งเศสไม่ได้ถอนกำลังออก ฝ่ายสยามจึงต้องยอมยกเมืองตราดและเมืองประจันตคีรีเขตร์ (เกาะกง) เพื่อแลกกับเมืองจันทบุรี และอีกหนึ่งปีต่อมาสยามยอมยกเมืองพระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ เพื่อแลกเมืองตราดคืนมา แต่ฝรั่งเศสไม่ได้คืนเมืองประจันตคีรีเขตร์แต่อย่างใด ปัจจุบันเมือง  ประจันตคีรีเขตร์จึงอยู่ในอาณาเขตประเทศกัมพูชา ต่อมามีการจัดระเบียบบริหารราชการส่วนภูมิภาคเป็นแบบมณฑลเทศาภิบาล จัดตั้งมณฑลจันทบุรี โดยมีเมืองจันทบุรี ระยอง และตราดอยู่ในเขตการปกครองจนถึงปี พ.ศ. 2476 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย จึงยกเลิกมณฑลเทศาภิบาลและได้จัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินใหม่ โดยแบ่งออกเป็นจังหวัดและอำเภอ ดังนั้นเมืองจันทบุรีจึงมีฐานะเป็นจังหวัดจนถึงปัจจุบันนี้

๔. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จจันทบุรี

    วัดพิชัยเป็นจุดเริ่มต้นของการฝ่าวงล้อมพม่า เพื่อมุ่งไปยังหัวเมืองชายทะเลตะวันออกอย่างเมืองจันทบุรี ซึ่งต้องผ่านสถานที่สำคัญในท้องถิ่นต่างๆ มากมายหลายแห่ง ตั้งแต่ในเขต อ.อุทัย                       จ.พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จนถึงจันทบุรี เมื่อกรุงศรีอยุธยาสูญเสียให้แก่พม่า เมืองจันทบูรเกิดว่างเจ้าเมือง ราษฎรจึงพากันเลือกเจ้าเมืองคนใหม่โดยเลือกผู้ที่มีฐานะดีของเมืองจันทบูร แต่งตั้งเป็นพระยาจันทบูร รั้งตำแหน่งเจ้าเมืองจันทบูร และพระยาจันบูรคนใหม่ก็ได้แต่งตั้งให้ขุนพรหมธิบาลขึ้นเป็นพระท้ายน้ำ ด้วยจันทบูรในสมัยนั้นเป็นเมืองที่มีชัยภูมิดี ด้วยเป็นจุดเริ่มต้นที่จะเดินข้ามอ่าวไทยไปยังหัวเมืองทางใต้ได้สะดวก  โดยเฉพาะสามารถติดต่อกับเมืองพุทธไธมาศ เมืองเขมร จึงเป็นเมืองที่มีทางหนีออกไปทางทะเลที่แห่งอื่นได้ง่าย ด้วยเหตุนี้พระยาตากจึงต้องการเอาเมืองจันทบูรมาเป็นพวกให้ได้ จึงให้ทูตไปแจ้งยังพระยาจันทบูรว่าตอนนี้พระองค์ได้ตั้งฐานทัพอยู่ที่เมืองระยองกำลังรบกับพม่าเพื่อที่จะช่วยกรุงศรีอยุธยาให้พ้นจากพม่าขอให้พระยาจันทบูรเห็นแก่บ้านเมือง มาช่วยกันปราบพม่า

พระยาจันทบูรได้ตอบรับเป็นอย่างดี และรับว่าจะเข้ามาหารือกับสมเด็จพระเจ้าตากสินที่เมืองระยอง และได้มอบเสบียงส่วนหนึ่งให้กับสมเด็จพระเจ้าตากสิน เพื่อเป็นการยืนยันว่ามีความจริงใจ แต่ในความจริงพระยาจันทบูรไม่ไว้วางใจพระเจ้าตาก เพราะกลัวว่าพระยาตากนั้นจะแย่งชิงเมืองจันทบูรไปด้วย สมเด็จพระเจ้าตากสินก็ทราบดีว่าพระยาจันทบูร ไม่ได้ไว้ใจพระองค์เลย สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงต้องสร้างความน่าเชื่อถือโดยการชักชวนให้พระยาราชาเศรษฐี เจ้าเมืองพุทไธมาศมาเป็นพวก ซึ่งพระองค์เคยได้ยินมาว่าพระยาราชาเศรษฐีเคยจัดกำลังและส่งเสบียงไปช่วยกรุงศรีอยุธยา แต่หากว่าไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากติดกองทัพพม่า จึงไม่สามารถนำเสบียงไปช่วยทางกรุงศรีอยุธยาได้ เผื่อว่าพระยาจันทบูรทราบข่าวจะได้ยำเกรง ซึ่งพระยาราชาเศรษฐีก็ได้ทราบตกปากรับคำของสมเด็จพระเจ้าตากสินเมื่อถึงยามสิ้นฤดูมรสุมก็จะส่งกองทัพมาร่วมกับทัพสมเด็จพระเจ้าตากสิน

พระยาจันทบูรซึ่งมีความระแวงต่อสมเด็จพระตากสินและยิ่งได้พบกับขุนรามหมื่นช่องได้หนีพระยาตากมาจากเมืองแกลง ดังนั้นทั้งสองจึงหารือกันเรื่องพระเจ้าตากสินชวนเข้าร่วมรบกับพม่า ซึ่งทั้งสองต่างก็ไม่เห็นด้วย จึงวางแผนหลอกล่อให้พระเจ้าตากสินเข้ามาในเมืองจันทบูร เพื่อที่จะได้กำจัดพรเจ้าตาก จึงได้วางแผนการโดยการเชิญพระเจ้าตากให้ลงมาที่เมืองจันทบูร โดยให้พระสงฆ์ ๔ รูป เป็นผู้เชิญพระเจ้าตาก ด้วยเห็นว่าพระเจ้าตากนั้นเคารพและศรัทธาอย่างมากในพระสงฆ์

ในช่วงนั้นพระเจ้าตากสินอยูที่เมืองชลบุรี พระเจ้าเจ้าตากเมื่อทราบว่าพระยาจันทบูรยินดีให้การช่วยเหลือก็รู้สึกยินดีเป็นอย่างมาก ซึ่งทางพระยาจันทบูรให้เหตุผลว่าเมืองระยองที่พระองค์พำนักอยู่นั้นเป็นเมืองเล็ก จะขอเชิญพระเจ้ามามาที่เมืองจันทบูร เพราะเมืองจันทบูรเป็นเมืองที่มีเสบียงอันอุดมสมบูรณ์ และจะได้หารือเรื่องการเตรียมทัพรบกับพม่า

พระยาตากก็เสเด็จมาถึงบ้านบางกะจะหัวแหวน แต่ยังไม่ทันถึงเมืองจันทบูรก็ได้ทราบข่าวว่าพระยาจันทบูรกับขุนรามหมื่นช่องได้สมคบคิดกัน เรียกระดมพลเข้าไปไว้ในเมืองคอบซุ่มจะโจมตีพระเจ้าตาก ในขณะที่พระองค์ล่องเรือ พระเจ้าตากเมื่อทราบเรื่องก็สั่งไม่ให้ทหารข้ามแม่น้ำไปตามหลวงปลัดฯเมืองจันทบูร  และรับสั่งให้ขบวนเรือเลี้ยวขึ้นไปทางทิศเหนือไปตั้งค่ายที่วัดแก้ว อยู่ห่าวงประตู่ท่าช้างเมืองบจันทบูรประมาณ ๕ เส้น พระยาจันทบูรเห็นว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินไม่ยอมให้กำลังข้ามน้ำมาก็ตกใจ รีบสั่งให้ทหารขึ้นไปรักษาการที่บนเชิงเทินทันที แล้วให้ขุนพรหมธิบาลผู้เป็นเป็นพระท้ายน้ำ พาออกไปหาสมเด็จพระเจ้าตากสิน แต่ก็โดนสมเด็จพระเจ้าตากสินต่อว่า จึงได้แต่นำเรื่องไปบอกพระยาจันทบูร

พระยาจันทบูรเห็นความผิดของตนเองจึงไม่กล้าออกไปพบ จึงได้แต่ส่งเครื่องเลี้ยงดุออกมาและแจ้งว่า ขุนรามหมื่นช่องผู้ที่ยุแหย่เหรงกลัวพระเจ้าตาก ไม่กล้าออกมา ตนไม่รู้จะทำยังไงได้ พระเจ้าตากได้ฟังก็รู้สึกโกรธเคืองจึงสั่งความถึงพระยาจันทบูรว่า  “เมื่อไม่เห็นไมตรีกัน ก็ขอให้จงรักษาเมืองไว้ให้ดีเถิด”สมเด็จพระเจ้าตากสินจึงล้อมเมืองจันทบูรไว้ เมืองจันทบูรถึงแม้จะมีป้อมปราการที่แข็งแกร่งก็ตามพระยาจันทบูรยังหวาดกลัวอำนาจบารมีของสมเด็จพระเจ้าตากสิน และยิ่งได้ยินชื่อเสียงของบรรดาทหารของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ในเรื่องของความกล้าหาญด้วยแล้ว ยิ่งอดหวาดกลัวไม่ได้

สมเด็จพระเจ้าตากสินได้เรียนไพร่พลคนสำคัญต่างๆ มาประชุมหารือทำการรบ เช่น หลวงพิชัยฯ   พระเชียงเงิน ขุนพิพิธวาที ขุนชำนาญไพรสณฑ์ หลวงราชเสนา ขุนอภัยภักดี เป็นต้น และเหล่าทหารใหญ่น้อย หัวหมื่น พันทนายได้มีคำสั่งให้หุงหาอาหารกินกันก่อนที่จะมีคำสั่งตีเมืองจันทบูร เมื่อทุกคนกินอาหารเสร็จ พระเจ้าตากก็ประกาศว่า “ข้าขอสั่งให้ทุกคนทำลายหม้อชามรามไหและเสบียงอาหารให้หมด อาหารมื้อนี้จะเป็นมื้อสุดท้าย หากพวกเจ้าตีเมืองจันทบูรไม่ได้ในค่ำวันนี้ ข้าและพวกเจ้าจะได้ตายเสียด้วยกันทั้งหมดทีเดียว จงมุ่งเข้าไปกินอาหารมื้อเช้ากันในเมืองจันทบูรให้ได้เถิด”พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา

๕. บทสรุป

    จากการศึกษาการเสด็จเมืองจันทบุรีของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น ด้วยจุดประสงค์คือ ต้องการรวบรวมไพร่พล เพื่อที่จะกู้กรุงศรีอยุธยาคืนจากพม่า จึงเดินทางออกจากกรุงศรีอยุธยามาตามเส้นทางฝั่งตะวันออก ตามลำดับ คือ กรุงศรีอยุธยา นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด  แล้วก็กลับมาจันทบุรีอีกครั้ง เพื่อเข้าตีเมืองจันทบูร และรวบรวมไพร่พลไปตีกรุงศรีอยุธยาจนสามารถเพื่อกู้อิสรภาพจากพม่าได้

เมืองจันทบุรีในปัจจุบันถือว่ามีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์หลายครั้ง โดยเฉพาะครั้งที่สมเด็จพระเจ้าตากสินได้มาตั้งถิ่นฐานเพื่อกอบกู้อิสรภาพให้กับปวงชนชาวไทย ให้ได้มีเอกราช แม้พระองค์จะอยู่ที่จันทบุรีไม่นานนักแต่ก็ทำให้ชาวจันทบุรีได้รู้จักความสามัคคี ความเข้มแข็ง ความตั้งใจเด็ดเดี่ยว ยามใดก็ตามเมื่อเอ่ยพระนาม “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ก็ต้องนึกถึงประโยคที่ว่า “ทุบหม้อข้าวหม้อแกง” ก็ต้องนึกถึงเมืองจันทบุรีและปัจจุบันยิ่งเมื่อนับรวมอนุสาวรีย์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่ผู้คนต่างให้ความเคารพและศรัทธาในเรื่องการกู้อิสรภาพ จึงมีการการสร้างอนุสาวรีย์เป็นจำนวนมากเช่น ที่วงเวียนใหญ่        วัดอรุณราชวราราม, วัดหงส์รัตนาราม, วัดอินทาราม จังหวัดจันทบุรี จ.ตาก สถูปที่ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา วัดปากน้ำโจ้โล้ วัดแจ้ง วัดโพธิ์ ที่ริมแม่น้ำบางปะกง อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา, วัดกบแจะ อ. เมือง จ.ปราจีนบุรี, วัดพระศรีมหาโพธิ์ อ.ศรีมโหสถ จ.ปราจีนบุรี, วัดใหญ่อินทาราม อ.เมือง จ.ชลบุรี, วัดบางกุ้ง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม, วัดในกลาง อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี, อนุสรณ์ที่ถ้ำขุนเขาพนม จ.นครศรีธรรมราช และปัจจุบันก็ยิ่งมีการสร้างมากขึ้นเรื่อยๆ

ในขณะเดียวกันก็จะทรงมีความเชื่อมั่นศรัทธาในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา เล่าสืบต่อกันมาว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น ทรงศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง ในวันที่ 28 ธันวาคม ที่ทรงปราบดาภิเษกพระองค์ขึ้นเป็นบรมกษัตริย์แห่งกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทรนั้น มีพระราชปณิธานอย่างแรงกล้าที่ทั้งสนับสนุนส่งเสริม ยืนหยัดพระพุทธศาสนา ในบทที่ว่า

“อันตัวพ่อ ชื่อว่า พระยาตาก              ทนทุกข์ยาก กู้ชาติ พระศาสนา

ถวายแผ่นดิน ให้เป็น พุทธบูชา            แด่ศาสนา สมณะ พุทธโคดม

ให้ยืนยง คงถ้วน ห้าพันปี                  สมณะพราหมฌ์ ชีปฏิบัติ ให้พอสม

เจริญสมถะ วิปัสสนา พ่อชื่นชม           ถวายบังคม แทบบาท พระศาสดา

คิดถึงพ่อ พ่ออยู่ คู่กับเจ้า                 ชาติของเรา คงอยู่ คู่พระศาสนา

พระพุทธศาสน์ อยู่ยง คู่องค์กษัตรา       พระศาสดา ฝากไว้ ให้คู่กัน”

พระมหากรุณาธิคุณในพระบาทสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ผู้กอบกู้ผืนแผ่นดินไทยให้ยังคงอยู่สืบไป

บรรณานุกรม

กำพล จำปาพันธ์. สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ กับอัตลักษณ์ความเป็นชาติ  ในประวัติศาสตร์ท้องถิ่นพระนครศรีอยุธยา. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา, ๒๕๕๘.

ปฐมพงษ์ สุขเล็ก. สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช: เรื่องเล่า และการประกอบสร้างความหมาย. ปริญญานิพนธ์หลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาภาษาไทย, (บัณฑิตวิทยาลัย: มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ), ๒๕๕๕.

จันทนุมาศ (เจิม), พัน. พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). นนทบุรี: สำนักพิมพ์ศรีปัญญา, ๒๕๕๓.

บรัดเลย์, หมอ. พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ ๔ (สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์โฆษิต, ๒๕๕๔.

พระราชวิจารย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว. เรื่องจดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี  (เจ้าครอกวัดโพธิ์). นนทบุรี: สำนักพิมพ์ศรีปัญญา, ๒๕๕๒.

ปรามินทร์ เครือทอง. พระเจ้าตากเบื้องต้น. กรุงเทพฯ: มติชน, ๒๕๕๗.

พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี. ทศภาค : สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. กรุงเทพฯ: พระรามครีเอชั่น, ๒๕๕๙.

นิธิ เอียวศรีวงศ์. การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๒๙.

ทิภากร บารเมษฐ์. กรุงธนบุรี ราชธานีอยุธยา.กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์บางกอกบุ๊ค, ๒๕๔๒.



รูปแบบประเพณีการบวชนากชุมชนหนองอ้ออำเภอมะขามจังหวัดจันทบุรี
https://so04.tci-thaijo.org/index.php/JRBGS/article/view/258741/178458


การศึกษาภาวะผู้นำของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในประวัติศาสตร์ ท้องถิ่นจันทบุรี

https://eresearch.rbru.ac.th/showthesis.php?theid=1839&depid=11


ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *